วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันสิ้นปี

                                    ซิดนีย์เป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่ฉลองการเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่                  
                      วันสิ้นปี คือ วันสุดท้ายของปีซึ่งตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม ตามปฏิทินเกรกอเรียน ทางการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ คืนวันนี้จะมีการจัดงานนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่วันปีใหม่ในเวลาเที่ยงคืนตามเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยมักมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง




วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันรัฐธรรมนูญ

วันรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม ของทุกปี
ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภาได้ทรงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศจึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทาน รัฐธรรมนูญ “ฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร” ให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญดังนี้ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย โดยผู้ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นคือ คณะราษฎร์
รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งหมด 16 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 (ฉบับชั่วคราว)
ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2495
ฉบับที่ 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502
ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515
ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2520
ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528)
ฉบับที่ 14 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กิจกรรม
คือ มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมา งานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน และมีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และจะมีการประดับธงชาติบริเวณอาคารบ้านเรือน
แหล่งอ้างอิง
- วันและประเพณีสำคัญ. เรียบเรียงโดย ศิริวรรณ คุ้มโห้
- ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์

วันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ5 ธันวาคม ของทุกปี
วันพ่อแห่งชาติ
ความเป็นมาของ วันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม
หลักการและเหตุผลในการจัดตั้ง วันพ่อแห่งชาติโดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและ สังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น วันพ่อแห่งชาติ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวมทั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เรืออากาศเอกวีรยุทธ ดิษยศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์และพระเจ้าหลาน เธอทุกพระองค์ ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น พ่อ ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรวงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติว่า
?อันราชาเลี้ยงรักษาซึ่งทวยราษฎร์ ประดุจเป็นปิตุราชอยู่ทุกเมื่อ
ควรที่บุตรสุดรักจักจุนเจือพระคุณนั้นให้อะเคื้อด้วยภักดี
และอีกบทหนึ่งเทิดพระเกียรติว่า
ทุกบุปผามาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทองค์บพิตรเป็นนิจสิน
พระคือบิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช  วันพ่อแห่งชาติ คือองค์อดิเรก
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน
ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น พ่อแห่งชาติ ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป
ดอกพุทธรักษา สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ
คณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติได้กำหนดให้ดอกพุทธรักษาดอกไม้ที่มีนามเป็นมงคลนี้เป็นสัญลักษณ์
วันพ่อแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ของการจัดวันพ่อแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อเทิดทูนพระณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อ
4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาติ
1. ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน
2. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์หรือทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลและระลึกถึงพระคุณพ่อ
3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมยกย่องผู้ที่ สมควร ได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อ ตัวอย่าง
สำหรับคุณสมบัติของพ่อตัวอย่าง คณะกรรมการได้กำหนดไว้ดังนี้
1. มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
2. ส่งเสริมการศึกษาแกบุตรและธิดา
3. นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด
4. งดเว้นอบายมุขทุกชนิด
5. อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
6. มีภรรยาเพียงคนเดียว
หน้าที่ของบิดา มารดาพึงมีต่อบุตร
  • ห้ามมิให้ทำความชั่ว – ป้องกัน, ห้ามปราม มิให้ประพฤติเสียหาย
  • ให้ตั้งอยู่ในความดี – ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม วัฒนธรรมประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง
  • ให้ศึกษาศิลปวิทยา – ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งคดีโลก และคดีธรรม
  • หาคู่ครองที่สมควรให้ – เลือกคู่ครองที่คู่ควร, เหมาะสมให้ในเวลาอันเหมาะสม
  • มอบทรัพย์สมบัติให้ดูแลเมื่อถึงเวลาอันสมควร – มอบภาระหน้าที่การงานให้บริหาร และมอบมรดกให้ครอบครอง
หน้าที่ของบุตรพึงมีต่อบิดามารดา
  • เลี้ยงดูบิดามารดาเป็นการตอบแทน – เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอย่าปล่อยให้ท่านอดรันทดใจในวัยชรา
  • ช่วยทำกิจการงานของท่าน – ไม่นิ่งดูดายเป็นคนไร้น้ำใจเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่
  • ดำรงวงศ์ตระกูล – ไม่ทำตระกูลให้เสื่อมและเสียหาย
  • ประพฤติตนให้สมควรได้รับทรัพย์มรดก – ประพฤติตนให้ท่านไว้ใจและวางใจ ที่จะครอบครองสมบัติ
  • ท่านเจ็บป่วยต้องรักษา ท่านมรณาต้องทำศพให้ – ทำความปรารถนาของพ่อแม่มิให้พังทลาย
วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น วันชาติของไทย อีกด้วย

วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคมของทุกปี
วันปิยมหาราช วันปิยมหาราชตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช”

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี)เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ
พระราชกรณียกิจของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
  • เลิกทาส
  • ด้านการปกครอง
  • การสาธารณูปโภค
  • การศึกษา
  • การปกป้องประเทศ
  • การเสด็จประพาส
เลิกทาส
โปรดเกล้าฯให้ประกาศเลิกทาสในเมืองไทย
เลิกทาสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่าจะต้องเลิกทาสให้สำเร็จให้จงได้ แต่การที่พระองค์จะทรงทำการเลิกทาสถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากด้วยทาสนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้เมื่อไม่มีทาสบุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติทาส เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดเรื่องทาสในเรือนเบี้ยให้เป็นไปอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นทาส ไม่จำเป็นต้องเป็นทาสอีกต่อไป กฎหมายโบราณแบ่งทาสออกเป็น 7 ชนิด
1. ทาสสินไถ่
2. ทาสในเรือนเบี้ย
3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
4. ทาสท่านให้
5. ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ
6. ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
7. ทาสเชลยศึก
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน และได้ใช้เวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยมิเกิดการนองเลือด เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เลย
ด้านการปกครอง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน ได้แก่
1. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวซึ่งเป็นประเทศราช
2. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันออกและตะวันตก และเมืองมลายู
3. กระทรวงวัง มีหน้าที่ดูแลรักษาการต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง
4. กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีรายได้จากประชาชน
5. กระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่ในการดูแลควบคุมการเพาะปลูก ค้าขาย ป่าไม้
6. กระทรวงนครบาล มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร
7. กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา
8. กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่าง ๆ
9. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง และงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง
10. กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ
การสาธารณูปโภค
- การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452
- การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย
- การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านนี้ล้าสมัยไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณริมคลองบางกอกน้อย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431 และใช้ชื่อโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลศิริราช”
- การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้ กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433
การศึกษา
การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายการศึกษา ในปี พ.ศ.2414 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังโดยมีท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนอีกแห่งซึ่งสอนภาษาอังกฤษมีนาย ยอซ แปตเตอร์สัน เป็นอาจารย์ใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงอีกหลายแห่ง โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัดคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ.2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เขียนตำราเรียนขึ้นมา เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาห์นิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าผู้หญิงก็สมควรที่จะได้รับความรู้เช่นเดียวกับผู้ชาย ในปี พ.ศ.2444 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ตั้งขึ้น คือ โรงเรียนบำรุงสตรีวิทยา การปกป้องประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังในการรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม ดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่
- พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสอบจุไทย
- พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
- พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
- พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภรณ
การเสด็จประพาส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จประพาสเป็นอย่างมาก แต่มิได้ไปเพื่อการสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเสด็จประพาสภายในประเทศทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชนบ้าง ปลอมเป็นขุนนางบ้าง ทรงกระทำเช่นนี้เพื่อเสด็จดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2440 โดยมีหมายกำหนดการเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2441 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลานาน 9 เดือน เพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และในปี พ.ศ.2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้ นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองอย่างมากมาย
ในปี พ.ศ.2413 ทรงเสด็จประพาสประเทศเพื่อบ้านเป็นครั้งกรำ คือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศชวา 2 ครั้ง การเสด็จพระราชดำเนินประเทศเพื่อนบ้านนั้นด้วยทรงต้องการที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อบ้านในแถบอินโดจีน รวมถึงทรงต้องการเรียนรู้ระเบียบการปกครอง
ในปี พ.ศ.2415 เสด็จเยือนประเทศอินเดีย และประเทศพม่า และได้รับการถวายพระบรมสารีริกธาตุและพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาอินเดียเพื่อนำกลับมาปลูกในประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองมากมาย ทั้งการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ รถราง การแพทย์ การศึกษา รวมถึงระเบียบแบบแผนการปกครองประเทศ สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีชนมพรรษา 58 พรรษา ในบั้นปลายพระชนมชีพทรงพระประชวร เนื่องจากทรงพระชราภาพและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 นับว่าประเทศไทยได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงปล่อยทาสให้เป็นไท ทรงพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศจนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติพระองค์ทรงอยู่ในราชสมบัติ 42 ปี ประชาชนชาวไทยต่างรักและอาลัยพระองค์มาก และพร้อมใจถวาย สมัญานามว่า “พระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย”
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
  • พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
  • พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย
  • พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่ โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง
  • พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี โปรดให้เลิกประเพณีหมอคลานในเวลาเข้าเฝ้า
  • พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง
  • พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ – สมุทรปราการสมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน
  • พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนครตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2
  • พ.ศ.2427 โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
  • พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน
  • พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส การทดลองปกครองส่วนกลางใหม่ เปิดโรงพยาบาลศิริราชโปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน
  • พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา
  • พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)
  • พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
  • พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง
  • พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า
  • พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช
ในวันสำคัญนี้วันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมราชานุสรณ์ ที่พระลานพระราชวังดุสิต ถวายพวงมาลาแล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะทองทิศและเครื่องทองน้อย ทรงกราบถวายราชสักการะ และเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปปางประจำ พระชนมวารของพระบรมอัฐิและทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ พระสงฆ์ 57 รูป เท่าจำนวนพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ และพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันแม่แห่งชาติ

วันแม่แห่งชาติทุกวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี
วันแม่แห่งชาติ หรือที่คนไทยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วันแม่ ทุกคนรับทราบและซาบซึ้งกันดี เนื่องจากวันสำคัญนี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคือ วันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพและถือว่าเป็นวันแม่ของชาติด้วย
 แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
วันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่ทางราชการกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี และถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย โดยกำหนดให้ถือว่า “ดอกมะลิ” สีขาวบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่เรา
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
  2. ?จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ
  3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
  4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่

วันแม่ในประเทศต่าง ๆ
  • อาทิตย์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์  วันแม่แห่งชาติ ประเทศ นอร์เวย์
  • 8 มีนาคม   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ บัลแกเรีย, แอลเบเนีย
  • อาทิตย์ที่สี่ในฤดูถือบวชเล็นท์ (มาเทอริง ซันเ ดย์)   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์
  • 21 มีนาคม (วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ)    วันแม่แห่งชาติ ประเทศ จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน, อียิปต์
  • อาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคม    วันแม่แห่งชาติ ประเทศ โปรตุเกส, ลิทัวเนีย, สเปน, แอฟริกาใต้, ฮังการี
  • 8 พฤษภาคม    วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  เกาหลีใต้ (วันผู้ปกครอง)
  • 10 พฤษภาคม   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้, บาห์เรน, ปากีสถาน, มาเลเซีย, เม็กซิโก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อินเดีย, โอมาน
  • อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม    วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  แคนาดา, สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), สาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์, บราซิล, เบลเยียม, เปรู, ฟินแลนด์, มอลตา, เยอรมนี, ลัตเวีย, สโลวาเกีย, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, อิตาลี, เอสโตเนีย, ฮ่องกง
  • 26 พฤษภาคม     วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  โปแลนด์
  • 27 พฤษภาคม   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ โบลิเวีย
    อาทิตย์ที่สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม  สาธารณรัฐโดมินิกัน, สวีเดน
    อาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนหรือ อาทิตย์ที่สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ฝรั่งเศส
  • 12 สิงหาคม   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  ไทย (วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)
  • 15 สิงหาคม (วันอัสสัมชัญ)   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  คอสตาริกา, แอนท์เวิร์ป (เบลเยียม)
    อาทิตย์ที่สองหรือสามของเดือนตุลาคม อาร์เจนตินา (D?a de la Madre)
  • 28 พฤศจิกายน   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ รัสเซีย
  • 8 ธันวาคม    วันแม่แห่งชาติ ประเทศ ปานามา
  • 22 ธันวาคม   วันแม่แห่งชาติ ประเทศ  อินโดนีเซีย
วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
12 สิงหาคม ของทุกปี? (ปี 2553 นี้…ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2553)
         สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชสมภพ ณ บ้านพักของท่านพระยาวงษานุประพันธ์ ถนนพระราม 4 กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “สิริกิติ์”
พระองค์ทรงศึกษาในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีล่าง แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังต์ ซีสซาเวียร์ตำบลสามเสน เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้เสด็จตามพระราชบิดาซึ่งไปดำรงตำแหน่งแห่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส และโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และทรงศึกษาด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอย่างดี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชครั้งแรก ณ ฟองเทนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2492 จนกระทั่งถึงวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ได้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวังสระปทุม พร้อมทั้งได้มีพระราชโองการดำรัสให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ครั้นถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงฐานันดรเพิ่มขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นผลดีทุกประการ ต่อมาได้ทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถองค์ที่สองแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกหนทุกแห่ง ทรงรับทราบทุกข์สุขของราษฎร ได้ทรงหาทางแก้ไข เพื่อให้ราษฎรได้กินดีอยู่ดี ด้วยการพระราชทานพระราชดำริเป็นโครงการอาชีพเสริม โดยต้นเป้นครั้งแรกที่กลุ่มแม่บ้านหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โครงการอาชีพเสริมได้แพร่หลายไปในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศจึงเป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง จึงได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อใช้จ่ายในกิจการเหล่านี้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นใน พ.ศ. 2519 พระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เพื่อสนับสนุนการประดิษฐ์ศิลปะพื้นบ้านให้เป็นอาชีพเสริมแก่ชาวไร่ชาวนาในยามว่างจากฤดูทำไร่ทำนา
ได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วยเช่น
  1. โครงการป่ารักน้ำ ณ ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
  2. โครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ที่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
  3. โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
  4. โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว และที่โคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส
  5. โครงการสวนสัตว์เปิด ศูนย์ป่าตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
            นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อาทิ การต้อนรับประมุขของนานาประเทศที่มาเยือนประเทศไทย และเสด็จไปเยี่ยมเยียนประเทศต่าง ๆ อันเป็นการผูกสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในอนาคต
เมื่อทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจดังกล่าว จึงจะมีเวลาว่างสำหรับถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ทรงเป็นพระมารดาที่น่าเคารพของทูลกระหม่อม พระองค์ทรงอบรมทูลกระหม่อมด้วยพระองค์เองตามแบบไทย ให้รู้จักเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ และหัดทรงงานด้วยพระองค์เอง
ด้วยพระกรณียกิจของพระองค์ท่านได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง จึงถือเอาวันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นวันสำคัญของไทย
แหล่งอ้างอิง :
หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย สมเจตน์ มุทิตากุล
หนังสือ ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก โดย วรนุช อุษณกร
หนังสือ วันสำคัญของไทย โดยธนากิต
หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย สุชิราภรณ์ บริสุทธิ์

วันเข้าพรรษา

เข้าพรรษา วันเข้าพรรษา
ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
เข้าพรรษา วันเข้าพรรษา หรือการเข้าพรรษา? คือ การที่พระภิกษุตั้งใจว่าจะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่ง ตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน ไม่ไปค้างที่อื่นในระหว่างนั้น
          “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แต่พอเข้าฤดูฝนถนนหนทางเป็นโคลนเลนทั่วไปหมด และทางเดินบ้างสายต้องผ่านไร่นา ซึ่งเจ้าของเขาไถ่หว่านปลูกพืชทั่วบริเวณทั่วบริเวณเสียแล้ว การเดินทางไม่สู้สะดวก จึงไม่มีใครไปไหนมาไหนโดยไม่จำเป็น เพราะเกรงจะเหยียบย่ำเข้าไปในนาทำทำให้เกิดความเสียหาน พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงตั้งระเบียบการจำพรรษาขึ้น ให้พระภิกษุสงฆ์หยุดพักการเดินทางระหว่างฤดูฝน กำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 รวมเวลา 3 เดือนเต็ม เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
          ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย เหตุประการสุดท้ายนี้ฐานพระพุทธรูปไป บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังนี้เช่นปัจจุบันนี้
          โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระ ตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา
          การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด รับว่าเป็นประโยชน์
การปฏิบัติตนในวันเข้าพรรษา? เข้าพรรษา
         เข้าพรรษา ในวันเข้าพรรษานี้ หรือก่อนวันเข้าพรรษานี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่นสบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่ เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษาโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
 แม้การเข้าพรรษา จะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิ วิหาร และอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ ฯลฯ นอกจากนี้ บิดา มารดา มักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษา ในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา
1. เข้าพรรษา ทำเทียนจำนำพรรษา
2. เข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัย แด่ภิกษุ สามเณร
3. เข้าพรรษา ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศนา รักษาศีล
4. เข้าพรรษา อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ


แหล่งอ้างอิงเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา
1. ธนากิต. วันสำคัญไทย วันเข้าพรรษา. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
2. ศิลปากร, กรม. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์.?กรุงเทพฯ,2525

อาสาฬหบูชา

อาสาฬหบูชาคือ วันสำคัญของไทย เป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน
            หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภทคือ
  1. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้ได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น
  2. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น
  3. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป
  4. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา
เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสร็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่
  1. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
  2. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
  3. นิโรธ ความดับทุกข์
  4. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
          เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า “ปฐมเทศนา”
           ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวก นับเป็น“ปฐมสาวก” ของพระพุทธเจ้า
           หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์
จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันอาสาฬหบูชานี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ
  1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
  3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
  4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ
    พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
           เดิมวันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัต
           จึงนับแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชาพวกเราชาวพุทธ ต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร เจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ เป็นต้น เช่นเดียวกันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก
แหล่งที่มาอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชาศิลปากร, กรม. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ,2525.